การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตามขั้นตอนดังนี้
1.นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้ากำหนดเจ้าของต้องนำสุนัขไปรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกอายุ 2-5 เดือน และควรฉีด กระตุ้นหลังจากเข็มแรก 1-3 เดือน
2.ควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” คือ อย่าแหย่ให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ โกรธ อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยกสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบจานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหาร ขณะที่สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ กำลังกิน อย่ายุ่งกับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
3.ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน ควรนำสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพราะสัตว์ที่ได้รับวัคซีนถูกต้องแล้วประมาณ 1 เดือน จึงจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ และถ้าไม่ต้องการให้สุนัขมีลูกควรนำไปคุมกำเนิด เช่น ทำหมัน ฉีดยาคุม
4.ควรทิ้งขยะ เศษอาหาร ในที่ที่มีฝาปิดมิดชิดหรือกำจัดโดยการฝังหรือเผา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งอาหารสุนัขจรจัด และดูแลสุนัขอย่างรับผิดชอบ ไม่ควรปล่อยให้ไปก่อความรำคาญเสียหายต่อผู้อื่น
5.เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วใส่สารละลายไอโอดีนที่ไม่มี แอลกอฮอล์ เช่น โพวิดีน ไอโอดีน หรือยารักษาแผลสดอื่นๆ แทน พร้อมทั้งติดตามหาเจ้าของสุนัขที่กัดเพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและประวัติอาการสุนัขเพื่อเฝ้าสังเกตต่อไป รีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีน และภูมิต้านทาน (Immunoglobulin) ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าต้องได้รับการฉีดวัคซีนและภูมิต้านทานจะต้องไปให้ครบตามนัดหมายและปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ควรกักขังสุนัขหรือแมวที่กัดไว้เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน โดยในระหว่างนี้ควรให้อาหารและน้ำสุนัขหรือแมวดังกล่าวตามปกติ แต่ต้องระวังและไม่คลุกคลีด้วย ถ้าสัตว์มีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที และถ้าสัตว์ตายในระหว่างนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อตัดหัวสัตว์ส่งตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้า
6.เมื่อพบเห็นสุนัข หรือสัตว์ทีมีอาการที่คิดว่าจะเป็นโรคนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ สาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลทราบโดยด่วนเพื่อดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ไปที่อื่นและ ติดตามคนที่ถูกสุนัขตัวดังกล่าวกัด ข่วน มารับการฉีดวัคซีน
7.ถ้าพบคนที่ถูกสุนัขกัดควรแนะนำให้รีบล้างแผล ใส่ยา และไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดยเร็ว
 
© โรงพยาบาลรามคำแหง - แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางครบทุกสาขา