PM 2.5 คืออะไร? เกิดจากอะไร?
PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดย PM ย่อมาจากคำว่า Particulate Matters หรือฝุ่นละออง ส่วนตัวเลข 2.5 คือขนาดของฝุ่นละออง ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากถามว่า 2.5 ไมครอนนี้เล็กขนาดไหน ก็คงเทียบได้ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม เรียกได้ว่าเล็กจนขนาดขนจมูกของคนเราซึ่งทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถดักจับฝุ่นเหล่านี้ได้เลย
สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5
- ไฟป่า การเผาขยะ การเผาเพื่อทำการเกษตรในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชต่าง ๆ
- ควันที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ และฝุ่นจากการก่อสร้าง
- การขนส่งและคมนาคม เช่น ควันจากท่อไอเสีย การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์
- การผลิตไฟฟ้า เช่น การเผาปิโตรเลียมและถ่านหิน
- กิจวัตรต่าง ๆ ของคน เช่น สูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน เผากระดาษ การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร
ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่ออาการแพ้
ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบใน 2 รูปแบบคือ
- อักเสบเฉียบพลัน มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก แสบตา คันตา น้ำมูกไหล ยิ่งคนที่เป็นหอบหืดจะเหนื่อยขึ้น จากภาวะหลอดลมตีบอักเสบ มีหายใจเสียงหวีด ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อนหรือคนที่เป็นหอบหืดตอนเด็กหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้เพราะความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ที่สูงกระตุ้นให้โรคกลับมาและกระตุ้นให้เป็นโรคใหม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกับภูมิแพ้ผิวหนัง กระตุ้นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษได้ด้วย
- อักเสบเรื้อรัง มีอาการคัดจมูกมากจนทนไม่ไหว ปวดมาก ปวดซีกเดียว มีมูกสีเหลืองเขียวออกมา การได้กลิ่นลดลง ซึ่งเป็นอาการของโพรงไซนัสอักเสบหรือภูมิแพ้กำเริบรุนแรงได้ นอกจากนี้ที่สำคัญมากการเกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ มะเร็งปอด เป็นต้น
ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลจาก PM 2.5
เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ปัญหาเรื่องมาตรการควบคุมก็ดูจะใหญ่เกินไปสำหรับประชาชนธรรมดา ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือการดูแลป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5
- ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกในร่างกายได้
- งดสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วยนะคะ
- ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์
- ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ หรือไปกลับทางเดียวกัน ใช้รถคันเดียวกันดีกว่านะคะ
- เช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index – AQI) ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรเลี่ยงการออกนอกบ้านและทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดที่เล็กมาก หน้ากากอนามัยกระดาษทั่วไป ไม่สามารถดักจับฝุ่นนี้ได้นะคะ จึงจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยที่มีความหนากว่าปกติ ซึ่งสามารถกรอง PM2.5 ได้เท่านั้น
- ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี เพื่อให้โพรงจมูกสะอาด ลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดโรค
- ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เพื่อให้การกรองอากาศมีความละเอียดสูงกว่าแผ่นกรองอากาศปกติ สกัดกั้นสารก่อภูมิแพ้ได้ เพราะแม้จะปิดประตูหน้าต่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้
- รณรงค์เรื่องลดการเผาไหม้ ทั้งในชีวิตประจำวันอย่างการใช้รถให้น้อยลง การทำอาหารแบบครัวปิด การลดหรืองดการจุดธูป ไปจนถึงการทำการเกษตรและอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์