ไข้มาลาเรีย โรคติดต่อจากยุงก้นปล่อง (Malaria)
โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมองได้
ทำความรู้จักโรคไข้มาลาเรีย
โรคไข้มาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งมี 5 ชนิด และเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด โรคไข้มาลาเรียมีความชุกชุมตามบริเวณที่เป็นป่าเขาและมีแหล่งน้ำ ในปัจจุบันถือเป็นโรคประจำถิ่นที่ยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โรคไข้มาลาเรียยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะอาการหรือฤดูกาลเกิดโรค เช่น ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ดอกสัก ไข้ร้อนเย็น ไข้ป้าง เป็นต้น
การติดต่อของโรคไข้มาลาเรีย
ติดต่อโดยยุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียจากผู้ป่วยไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยเริ่มจากยุงก้นปล่องกัดผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้มาลาเรีย แล้วดูดเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียเข้าไป หลังจากนั้นเชื้อมาลาเรียจะใช้เวลาเจริญเติบโตอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 - 12 วัน จนอยู่ในระยะที่ทำให้เกิดโรคได้ เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียไปกัดคน ก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน
อาการของโรคไข้มาลาเรีย
โดยทั่วไปมีอาการ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ แต่ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่ในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการซีด ตาเหลืองตัวเหลือง จุดเลือดออกหรือเลือดออกผิดปกติ สับสน ซึมและช็อคได้
การรักษา
เชื้อมาลาเรียเป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงต้องอาศัยการตรวจหาเชื้อโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียสำเร็จรูป และเนื่องจากเชื้อมาลาเรียบางชนิด เมื่อป่วยแล้วไม่ไปรับการรักษาทันทีรักษาไม่ทันท่วงทีอาจทำาให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยมาลาเรียทุกราย จะต้องได้รับการตรวจรักษาตามชนิดของเชื้อมาลาเรียโดยเร็วที่สุด
การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย
- กางมุงนอน พร้อมปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด
- ทายากันยุงบริเวณผิวหนังภายนอก หรือจุดยากันยุง
- สวมใส่เสื้อผ้าให้ปกคลุมมิดชิด
- หากต้องค้างคืนในไร่นาหรือป่าเขา ให้ใช้มุงชุบน้ำยา
- กำจัดแหล่งลูกน้ำ เช่น บริเวณน้ำกักขัง เป็นต้น