โรคชิคุนกุนยาพบครั้งแรกที่ประเทศแทนซาเนีย ในปี พ.ศ. 2495 ชื่อโรคนี้มาจากภาษาสวาฮิลี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของทวีปแอฟริกา หมายถึง “เจ็บจนตัวงอ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพคนไข้ที่เจ็บปวดจากโรคนี้นั่นเอง
การติดต่อของโรค
โรคชิคุนกุนยาติดต่อกันได้โดยมียุงลายสวย (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นติดโรคได้
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบมีตาแดง (conjunctival injection) แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคือ อาการปวดข้อ ข้อบวมแดง อักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบจุดเลือดออก (petichiae) บริเวณผิวหนังได้
การรักษา
โรคนี้มักหายเองและยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค การรักษาที่ให้ผผลดีที่สุดในตอนนี้คือ การรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาอะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) ในการรักษาอาการไข้ แก้ปวด ในระยะแรก การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกันในช่วงที่มีไข้ เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
ที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข