คุณมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมไหม หากเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร จะแค่ปรับพฤติกรรม กินยา หรือต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ข้อเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวเข่าได้ดี

คุณมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมไหม หากเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร จะแค่ปรับพฤติกรรม กินยา หรือต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ข้อเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวเข่าได้ดี หากข้อเข่ามีปัญหาหรือมีอาการปวดขึ้นมาจะทำให้เคลื่อนไหวลำบาก โดยเฉพาะอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาก็อาจเดินไม่ได้ในที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่า ปวดขา ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจาก “ข้อเข่าเสื่อม” โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมสภาพและสึกหรอ ทำให้กระดูกบริเวณข้อต่อเสียดสีกันจนเนื้อกระดูกเสื่อมสภาพ เวลาเดินหรือยืนนานๆ ก็จะเริ่มปวด

ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อม

  • อายุ : อายุมากมีโอกาสเป็นมาก เนื่องจากใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน
  • เพศ : เพศหญิงเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2 เท่า
  • น้ำหนัก : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่า
  • พฤติกรรม : ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ
  • เล่นกีฬาที่มีการปะทะ : มักเกิดการปะทะบริเวณหัวเข่า ทำให้หัวเข่าบาดเจ็บ เป็นเหตุให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • อุบัติเหตุ : ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุมีการกระแทกที่ข้อเข่า หรือกระดูกข้อเข่าแตก เอ็นฉีก ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก : คนที่ไม่ออกกำลังกายมักมีกล้ามเนื้อข้อเข่าและกระดูกข้อเข่าที่ไม่แข็งแรง

สัญญาณอันตรายของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • เวลาขยับข้อเข่าขึ้นลงจะขยับได้ไม่สุด เนื่องจากปวดข้อ
  • เวลาขึ้นหรือลงบันได หรืองอเข่ามีเสียงกุบกับ
  • กินยาแก้ปวดข้อเกิน 3 เดือน แต่อาการไม่ดีขึ้น

อาการสำคัญของโรคข้อเข่าเสื่อม

ในระยะแรกจะมีอาการปวดข้อเข่าเล็กน้อย มีข้อฝืดขัด เมื่อขยับมีเสียงดัง พอขยับหรือเดินก็จะปวดมากขึ้น แต่จะทุเลาลงเมื่อได้พักขา อาการปวดจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การเหยียดเข่าหรืองอเข่าเริ่มทำได้ไม่สุดเพราะมีการยึดติดของข้อเข่า มีอาการเข่าหลวมทำให้เดินล้มบ่อย มีเสียงดังกรอบแกรบในเข่าซึ่งเกิดจากการเสียดสี เข่ามีรูปร่างผิดปกติ โก่งงอผิดรูป อาจโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน หากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

การวินิจฉัย โรคข้อเข่าเสื่อม

แพทย์จะประเมินจากประวัติความเจ็บป่วย ลักษณะการเดิน ตรวจดูรูปร่างของเข่า ลักษณะกล้ามเนื้อขาและรอบเข่า สังเกตอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ดูการเคลื่อนไหวของข้อ การงอ การเหยียด และฟังเสียงกรอบแกรบ ร่วมกับการทำเอกซเรย์ CT scan หรือ MRI ร่วมด้วย

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

การรักษาโรคเข่าเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ระยะของโรค โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวดข้อเข่า ชะลอการดำเนินโรค ฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า ป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งวิธีการรักษามีดังนี้ การรักษาโดยไม่ใช้ยา แพทย์จะให้ความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ผู้ป่วยพยายามลดปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เข่าเสื่อมลุกลาม เน้นการออกกำลังและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เช่น การใช้ไม้เท้า การเสริมรองเท้าเป็นลิ่มด้านนอก การใช้สนับเข่า เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของข้อเข่า รวมทั้งช่วยลดอาการปวดข้อเข่า การลดน้ำหนัก หรือใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้เลเซอร์ การฝังเข็ม การใช้ความร้อน การใช้สนามแม่เหล็ก ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาการรักษาร่วมกับผู้ป่วย และเลือกทางที่ดีที่สุด การรักษาโดยยา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยารับประทานตามอาการของโรค รวมถึงการใช้ยาทาเฉพาะ ประเภทที่เหมาะสมตามอาการของแต่ละราย ในปัจจุบันมีการใช้ยาหลายกลุ่ม ได้แก่

  • ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
  • ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกสำหรับข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้น
  • ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน
  • การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
  • การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในกรณีข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น

การล้างข้อโดยใช้วิธีการส่องกล้อง

ช่วยล้างน้ำไขข้อที่อักเสบ เศษกระดูก กระดูกอ่อนและเยื่อบุข้อที่หลุดร่อนออก แต่งผิวข้อให้เรียบและกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อใหม่

  • การผ่าตัดจัดแนวกระดูกขา ใช้ในกรณีที่เป็นข้อเสื่อมซีกเดียวร่วมกับมีขาโก่งผิดรูปเล็กน้อย เป็นการผ่าตัดปรับแนวของข้อและขาใหม่ ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มอายุการใช้งานของข้อ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่สึกออกไปและทดแทนด้วยผิวข้อเทียม เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการสึกของผิวข้ออย่างรุนแรง มีข้อผิดรูปหรือมีข้อยึดติดมาก

แม้ว่าเราจะสามารถสังเกตอาการปวดเข่าและสงสัยว่าอาจจะเป็นข้อเข่าเสื่อมได้เองในเบื้องต้น แต่เพื่อความแน่ใจและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อไม่ให้โรคลุกลาม เพราะยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นการดูแลข้อเขาให้ใช้ได้นานยิ่งขึ้น

 

ที่มาของข้อมูล  : logo