โรคสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของการทำงานขั้นสูงของสมอง ได้แก่ ความจำ การใช้เหตุผล ทักษะในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ การใช้ภาษารวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพและพฤติกรรม ซึ่งมักมีอาการเกิดขึ้นหลาย ๆ อาการร่วมกัน โดยความผิดปกติที่กล่าวมานั้นเป็นมากจนกระทั่งผู้ป่วยมีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยที่อาการดังกล่าวไม่ได้เป็นอาการที่เกิดจากโรคทางจิตเวช
สาเหตุของโรคสมองเสื่อม
สาเหตุหลักของกล่มอาการโรคมองเสื่อม ได้แก่ ความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง ซึ่งโรคที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจชะลอการดำเนินโรคได้ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ที่ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมองโดยตรง เป็นโรคที่ได้รับการรักษาแล้วสามารถหยุดการดำเนินโรคหรือระกษาให้หายขาดได้ เช่น โรคสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำในโพรงสมองผิดปกติ ภาวะสมองเสื่อมจากการดื่มสุรา การขาดฮอร์โมน เกลือแร่ หรือวิตามินบางชนิด และการรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน เป็นต้น
อาการเตือน “ภาวะสมองเสื่อม”
อาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ อาการหลงลืม โดยในระยะเริ่มแรกอาจจะยังไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานหรือการใช้ชีวติ ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า Mild Cognitive Impairment โดยลักษณะของผู้ที่มีภาวะนี้ ได้แก่
- มีอาการหลงลืมในสิ่งที่เพิ่งได้คุยกัน
- การทำงานหรือการตัดสินใจช้าลง
ส่วนผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคสมองเสื่อมจะมีอาการหลงลืมที่มากขึ้น เช่น
- มีอาการถามซ้ำ หรือพูดคุยในเรื่องที่ได้พูดไปแล้วบ่อย ๆ
- จำชื่อญาติสนิท หรือชื่อสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้
- ทำของหายบ่อย ๆ
- เลิกสนใจในสิ่งที่เคยชอบ เป็นต้น
ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จะมีการนอนหลับ การตื่นที่ผิดเวลา ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันบางอย่างได้อย่างถูกต้อง เช่น การแต่งตัว ทำอาหาร ขับรถ อาจมีอาการลืมในสิ่งที่เพิ่งได้ทำไป เช่น
- ลืมว่ารับประทานอาหารไปแล้ว
- ลืมว่าเพิ่งได้ไปสถานที่ใดมา
- หลงทางเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
- ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้อย่างถูกต้อง ใช้คำผิดในการสนทนา
- มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดในสิ่งที่สามารถเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเพราะขาดความยั้งคิด
- ผู้ป่วยอาจมีภาพหลอนหรืออาการหลงผิด เช่น คิดว่าจะมีคนเข้ามาขโมยของในบ้าน
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากจะไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร มีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว และไม่สามารถจำสมาชิกในครอบครัวได้ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม
ประวัติที่ได้จากญาติหรือผู้ดูแลเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอาการของความผิดปกติแรกเริ่มที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ร่วมกับการตรวจร่างกายและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร นอกจากการตรวจร่างกายแล้วจะมีการทดสอบผู้ป่วยด้วยแบบทดสอบระดับพุทธิปัญญาของผู้ป่วยแบบสั้น ซึ่งเรียกว่า Mini Mental State Examination เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการสมองเสื่อม ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมหรือทำให้อาการสมองเสื่อมเป็นมากขึ้น ประกอบด้วย การตรวจเลือดต่าง ๆ การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI) และการตรวจน้ำไขสันหลัง เป็นต้น
การรักษาโรคสมองเสื่อม
การรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก โดยผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาท การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทนั้น จะเป็นการรักษาสาเหตุของโรคเป็นหลัก
ลดปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงโรคสมองเสื่อม
เนื่องจากปัจจุบัน สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง เช่น อัลไซเมอร์ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้น การป้องกันโรคสมองเสื่อมดังกล่าวทำได้เพียงการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม เช่น การออกกำลังกายและมีกิจกรรมทำอย่างสม่ำเสมอ การเล่นเกมส์ การฝึกสมอง การรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
แหล่งที่มา : http://www.sukumvithospital.com/content.php?id=3459