ระวัง ๕ อุบัติเหตุวันลอยกระทง
ช่วงเทศกาลต่างๆ มักจะเป็นช่วงที่อุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมาย ครอบครัวไหนพาลูกหลานไปเที่ยวงานลอยกระทงกัน อย่าลืมระมัดระวังอุบัติเหตุกันด้วยนะคะ ๕ อุบัติเหตุที่ควรระวังในช่วงเทศกาลลอยกระทง
๑. อุบัติเหตุทางถนน
เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากออกมาเที่ยวงานและลอยกระทง ทำให้มียานพาหนะบนถนนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
๒. การพลัดหลง
ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดควบคุมให้อยู่ในสายตาผู้ปกครอง ต้องเขียนชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ใส่ไว้ในกระเป๋าของเด็กและสอนให้เด็กว่าหากเกิดการพลัดหลงให้เดินทางไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ
๓. อุบัติเหตุทางน้ำ
ควรระวังการเดินลงไปลอยกระทงตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หรืออ่างเก็บน้ำ อย่าปล่อยให้เด็กลงไปลอยกระทงคนเดียวโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เด็กตกน้ำหรือจมน้ำได้
๔. อุบัติเหตุจากพลุ ดอกไม้ไฟ
พลุ ดอกไม้ไฟ ของคู่กับเทศกาลงานลอยกระทง ถึงแม้จะรณรงค์กันทุกปีแต่ก็มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ทุกปี ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างเคร่งครัด
๕. อันตรายจากโคมลอย
นอกจากลอยกระทงในแม่น้ำลำคลองแล้ว ไม่กี่ปีมานี้มีกิจกรรมยอดฮิตอีกอย่างคือ การปล่อยโคมลอย ซึ่งโคมลอยนี้ถ้าปล่อยกันในเขตชุมชนอาจเกิดอันตรายกับบ้านเรือน หากโคมลอยตกลงมาในขณะที่ไฟยังติดอยู่ และยิ่งปล่อยกันจำนวนมาก สุดท้ายอาจจะกลายเป็นขยะดังภาพที่เคยเป็นข่าวหรือแชร์กันในโซเชียลฯ
อุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร ๑๖๖๙ ฟรีตลอด ๒๔ ชั่วโมง
เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินเองและเพื่อการช่วยเหลืออย่างทันกาล สิ่งสำคัญที่ผู้แจ้งเหตุจะต้องให้ข้อมูลกับผู้รับแจ้งเหตุในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน คือ
๑. เมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ประสบอุบัติเหตุ ให้ตั้งสติ และโทรแจ้งสายด่วน ๑๖๖๙
๒. ให้ข้อมูลลักษณะเหตุการณ์ ว่าเกิดอุบัติเหตุอะไร ประเภทใด หรือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินในลักษณะใด เช่น
- คนถูกรถชน รถชนกัน รถคว่ำ คนตกจากที่สูง มีบาดแผลขนาดใหญ่ ลึก มีเลือดออกมาก ห้ามเลือดไม่อยู่
- ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ได้รับสารพิษ ยาพิษ สัตว์มีพิษกัดต่อย
- เจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น หมดสติ มีอาการของภาวะช็อค เช่น หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น ซึมลง ชักเกร็ง ชักกระตุก เป็นไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ตกเลือด
- เจ็บท้องคลอดฉุกเฉิน มีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น
๓.บอกสถานที่เกิดเหตุ จุดเกิดเหตุ หรือจุดเด่นที่สำคัญที่สามารถเห็นชัด และเส้นทางที่สามารถไปถึงที่เกิดเหตุ
๔. บอกเพศ ช่วงอายุ จำนวนผู้บาดเจ็บ อาการรุนแรงของแต่ละคน
๕. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้บาดเจ็บ
๖. บอกความเสี่ยงซ้ำ เช่น อยู่กลางถนน เพราะอาจเกิดกรณีรถเหยียบซ้ำได้
๗. ชื่อผู้แจ้ง หรือผู้ให้การช่วยเหลือ หรือเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
๘. แจ้งอาการผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น ช่วยเหลือตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตามอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน
๙. รอชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
การแจ้งข้อมูลเบื้องต้นของท่าน คือการช่วยเหลือขั้นแรกที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัยมากขึ้น
ด้วยความปรารถนาดี : จากเทศบาลเมืองลำพูน